วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วัดเชียงมั่น


ช่วงวันหยุดปีใหม่ผู้คนก็มักจะหลั่งไหลเดินทางกันออกนอกเมืองเพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อน บางส่วนก็ถือเป็นช่วงเวลากลับบ้านหลังจากต้องเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่
หลายปีแล้วที่ฉันไม่ออกไปไหนในช่วงปีใหม่ ไม่ได้ตั้งใจจะอยู่เฝ้าบ้านแต่อยากจะพักผ่อนยาวๆ เพราะการทำงานที่ต้องออกต่างจังหวัดทุกเดือนนั้น ทำให้เบื่อและอิ่มกับการเดินทางได้เหมือนกัน อีกอย่างคือเพื่อนที่เที่ยวด้วยกันต่างมีภาระส่วนตัวมากขึ้น จึงรวมตัวกันยากเต็มที ขนาดจะนัดกินข้าวสักมื้อยังเลื่อนแล้วเลื่อนอีก
การได้ไปต่างจังหวัดก็มักจะได้ของแถมไปด้วยคือการท่องเที่ยว แต่ก็จะวนเวียนอยู่กับวัดวาอารมซะเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะวัดสำคัญของแต่ละจังหวัด เช่น วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดพระธาตลำปางหลวง วัดพระธาตุหริภุญชัย ที่ไปบ่อยแต่ก็ไม่เคยเบื่อ แต่บางครั้งก็ขอหลบไปทำบุญที่วัดสำคัญอื่นๆ ที่อยู่จัดในทำเนียบสถานที่ท่องเที่ยวประจำจังหวัดเหมือนกันเพียงแต่ไม่โด่งดังเท่ากัน เมื่อไปถึงก็กราบพระ ทำบุญ ทำทาน แล้วก็ออกมาเก็บภาพงามๆ ในบริเวณวัด ที่งามทั้งงานจิตรกรรมและประติมากรรม
คนส่วนใหญ่ที่ขึ้นไปเที่ยวทางเหนือ โดยเฉพาะถ้าผ่านจังหวัดเชียงใหม่ต้องขึ้นไหว้พระธาตุดอยสุเทพ เพราะถ้าไม่ขึ้นไปก็เหมือนยังมาไม่ถึงเชียงใหม่ ความที่ไปเชียงใหม่หลายรอบก็ได้ไปกราบหลายหน แต่วัดสำคัญในเชียงใหม่ยังมีอีกหลายนัก บางแห่งอยู่ในเมืองใกล้ชิดชนิดผ่านไปผ่านมาบ่อยๆ เมื่อไปเชียงใหม่ครั้งหลังๆ จึงได้เลือกไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์ตามวัดเหล่านี้บ้าง ซึ่งก็ไม่ผิดหวังค่ะ
สำหรับวัดแรกที่จะเสนอให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไปเยือนเชียงใหม่ และอยู่แต่ในเมือง แถมมีเวลาไม่มากแต่อยากกราบพระและชมวัดงามๆ ขอแนะนำให้ไป "วัดเชียงมั่น" ครับ
พระวิหารด้านหน้าพระเจดีย์
"วัดเชียงมั่น" หรือ วัดเชียงหมั้น วัดที่เก่าแก่ที่สุดในตัวเมืองเชียงใหม่ เป็นวัดแรกในเขตกำแพงเมือง ตั้งอยู่เลขที่ 171 บ้านเชียงมั่น ถนนราชภาคินัย ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง ใกล้กับโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เล่นบอกกันแบบนี้หลายคนอาจบอกว่าคงต้องบุรุษไปรษณีย์เท่านั้นที่จะไปถึง เอาเป็นว่าเริ่มจากข้ามสะพานนวรัฐมุงสู่ประตูท่าแพ จากนั้นก็เลี้ยวขวาไปตามคูเมืองมุ่งหน้าประตูช้างเผือก ก่อนถึงประตูช้างเผือกจะมีถนนราชภาคินัยให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปเลยค่ะ วัดเชียงมั่นจะอยู่ทางขวามือ
เล่าประวัติกันสักนิด (ยาวสักหน่อย) นะครับ
อ้อ ขอบอกก่อนนะคะว่าประวัติที่จะอ่านต่อไปนี้ได้มาจากการเก็บเล็กผสมน้อยทั้งแผ่นพับและข้อมูลทางอินเตอร์เนต ซึ่งมีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย จึงเอามายำรวมกันได้ออกมาดังที่เห็น หากมีข้อผิดพลาดประการใดก็ต้องขออภัยกันนะตรงนี้เลยนะคะ และถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติมหรือประสงค์จะแก้ไขส่วนใดที่ผิดพลาดก็ยินดีอย่างยิ่งค่ะ
ประวัติความเป็นมาของวัดเชียงมั่นที่ปรากฎในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่และพงศาวดารโยนก คือ หลังจากที่พญางำเมือง พญาร่วง และพญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ สำเร็จในปี พ.ศ.1839 แล้ว ทั้งสามพระองค์ทรงโปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้นตรงที่หอนอนบ้านเชียงมั่นซึ่งพญามังรายทรงสร้างเป็นที่ประทับชั่วคราว ในระหว่างที่ควบคุมการสร้างเมืองใหม่โดยให้ชื่อที่ประทับแห่งนั้นว่า "เวียงเล็ก" หรือ "เวียงเหล็ก" หมายถึง "ความมั่นคงแข็งแรง" ต่อมาเมื่อพญามังรายเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถานแห่งใหม่ซึ่งเรียกว่า "เวียงแก้ว" (ปัจจุบันคือเรือนจำกลางเชียงใหม่) แล้ว ทรงอุทิศตำหนักคุ้มหลวงเวียงเหล็กถวายแด่พระศาสนา โดยตั้งเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกและพระราชทานนามอันเป็นมงคลว่า "วัดเชียงมั่น" หมายถึง "บ้านเมืองที่มีความมั่นคง"
ทั้งนี้ศิลาจารึกวัดเชียงมั่นพุทธศักราช 1839 จารึกไว้ว่า "ศักราช 658 ปีรวายสัน เดือนวิสาขาออก 8 ค่ำ ขึ้น 5 ไทยเมืองเปล้า ยามแตรรุ่งแล้ว สองลูก นาฑี ปลายสองบาทน้ำ ลัคคนาเสวยนวางค์ประหัส ในมีนยะราศี พญามังรายเจ้า พญางำเมือง พญาร่วง ทังสามคน ตั้งหอ นอนในที่ไชยภูมิ ราชมณเฑียร ขุดคือก่อตรีบูรทั้งสี่ด้านและก่อเจติยะทัดที่นอนบ้านเชียงมั่น ในขณะยาม เดียวนั้น ที่นั้นลวดสร้างเป็นวัด หื้อทานแก่แก้วทังสามใส่ชื่อว่าวัดเชียงหมั้น ต่อบัดนี้ ..." จึงนับได้ว่าวัดเชียงมั่นเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่
พระประธานภายในวิหาร
ต่อมาในปี พ.ศ.2094 เชียงใหม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า วัดเชียงมั่นจึงถูกทอดทิ้งให้เป็นวัดร้าง พ.ศ.2101 เจ้าฟ้ามังทรา (สมเด็จพระมหาธัมมิกะราชาธิราช) แห่งพม่า ทรงมีพระราชศรัทธาในพุทธศาสนา โปรดให้พระยาแสนหลวงสร้างเจดีย์ วิหาร อุโบสถ หอไตร ธัมมเสนาสนะกำแพง และประตูโขงขึ้นที่วัดเชียงมั่น โดยมีพระมหาหินทาทิจจวังสะเป็นเจ้าอาวาส
พระพุทธรูปในซุ้มหลังพระประธาน
เมื่อถึงสมัยพระยากาวิละครองเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ.2324-2358) ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเชียงมั่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่วัดนี้ได้ตกอยู่ในสภาพวัดร้างเมื่อครั้งที่ทำสงครามกอบกู้เอกราชคืนมาจากพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2319 ต่อมาในสมัยของเจ้าอินทวโรรส (พ.ศ.2440-2452) พระพุทธศาสนาแบบธรรมยุกนิกายได้เข้ามาเผยแผ่ในอาณาจักรล้านนา เจ้าอินทวโรสจึงได้นิมนต์พระธรรมยุตมาจำพรรษาอยู่ที่วัดเชียงมั่นเป็นครั้งแรก ภายหลังย้ายไปอยู่วัดหอธรรมและวัดเจดีย์หลวงตามลำดับ
นอกจากวัดเชียงมั่นจะเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกในเขตกำแพงเมืองแล้ว เมื่อถึงเทศกาลสลากภัตร หรือ ทานก๋วยสลาก จะมีการทานข้าวสลากที่วัดนี้ก่อนแล้วจึงจะทำที่วัดอื่นๆ ต่อไป ในสมัยพญามังราย วัดเชียงมั่นยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาอีกด้วย นอกจากนี้วัดเชียงมั่นยังเป็นสถานที่รวบรวมโบราณวัตถุจำนวนมาก

เอาล่ะค่ะประวัติก็ว่าไปแล้ว ต่อไปก็จะพาไปชมวัดโดยรอบค่ะ
เริ่มกันที่วิหารหลังแรก ซึ่งอยู่ด้านหน้าตรงทางเข้าวัดกันก่อนนะคะ พระประธานในวิหารเป็นพระปางมารวิชัย ด้านหลังของพระประธานมีพระพุทธรูปทองเหลืองปางอุ้มบาตร และมีซุ้มประดับกระจกสีซึ่งด้านในมีพระพุทธรูปอยู่อีก 1 องค์ (อันนี้ต้องขออภัยค่ะที่มิทราบนามของพระประธานองค์นี้) ส่วนด้านบนเพดานก็จะมีการประดับประดาสวยงามเป็นรูปกระต่าย (อยู่ในดอกไม้ 6 แฉก) และรูปนก (อินทรย์มั้ง?)
กระจกสีประดับเพดานวิหาร
ส่วนฝาผนังระหว่างช่องหน้าต่างก็มีภาพจิตรกรรมสีทองบนพื้นสีแดงสวยงามมากๆ ค่ะ ตัวอย่างที่นำมาให้ดูข้างล่างนี้เล่าเรื่องการสร้างเมืองและสร้างวัดของพญามังราย ทั้งเวียงกุมกาม และเมืองเชียงใหม่ รวมถึงวัดเชียงมั่นค่ะ
พญามังรายสร้างเวียงกุมกาม ในภาพจะเห็นเจดีย์ของวัดเจดีย์เหลี่ยมหรือวัดกู่คำค่ะ
พญามังรายกำหนดขนาดกำแพงเวียง
พญามังรายสมโภชเมืองเชียงใหม่
พญามังรายสร้างวัดเชียงมั่น
พิธีสรงน้ำพระเสตังคมณี และงานสมโภช
ออกจากวิหารหลังแรกเราก็เดินไปทางขวาก่อนค่ะ ไปวิหารอีกหลังหนึ่ง คือ วิหารจตุรมุข
"วิหารจตุรมุข" เป็นที่ประดิษฐานของ "พระเสตังคมณี" (พระแก้วขาว) อายุ 1800 ปี และ "พระศีลา" (ปางปราบช้างนาฬาคิริง) อายุตั้ง 2500 ปี ซึ่งพระพุทธรูปทั้งสององค์ท่านจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในลูกกรงเหล็กที่สร้างล้อมถึง 2 ชั้น คิดดูเถอะค่ะ ทุกวัดที่มีพระพุทธรูปสำคัญหรือโบราณวัตถุที่มีค่าสูง ต้องทำแบบนี้ทั้งนั้น คนเราสมัยนี้ไม่กลัวบาปกรรมกันเลยนะคะ
วิหารจตุรมุข
มกรคลายนาคที่ทางขึ้นวิหารจตุรมุข
พระเสตังคมณี (พระแก้วขาว) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากผลึกหินสีขาวขุ่น ขนาดหน้าตักกว้าง 4 นิ้ว สูง 6 นิ้ว ศิลปทวาราวดี ระหว่าง พ.ศ. 1100-1600 เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นด้วยผีมือปฏิมากรรมของช่างชาวละโว้ หรือขอม (ลพบุรี)
ภายในวิหารจตุรมุข พระแก้วขาวและพระศิลาอยู่หลังลูกกรง
ตามตำนานกล่าวไว้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพานล่วงแล้วได้ 700 ปี ในวันเพ็ญเดือน 7 พระสุเทวฤาษี ได้เอาดอกจำปา 5 ดอก ขึ้นไปบูชาพระจุฬามณียังดาวดึงษ์สวรรค์ และได้สนทนากับพระอินทร์ พระอินทร์ได้บอกกับพระสุเทวฤาษีว่า ปีนี้ในเดือนวิสาขะเพ็ญที่ลวะรัฏฐะ (ลพบุรี) จะสร้างพระพุทธรูปปฏิมากรรมด้วยแก้วขาว ครั้นสุเทวฤาษีกลับจากดาวดึงษ์สวรรค์แล้ว จึงไปเมืองละโว้ ขณะนั้นเจ้าเมืองละโว้และพระกัสสปเถระเจ้า ปรารถที่จะสร้างพระแก้ว แล้วขอพระวิศนุกรรมมาเนรมิตรเป็นองค์พระปฏิมากร สุเทวฤาษีและฤาษีอื่นๆ ก็ได้ประชุมช่วยในการสร้างพระด้วย เมื่อสำเร็จแล้วก็บรรจุพระบรมธาตุ 4 องค์ไว้ในพระโมลี (กระหม่อม) พระนลาด (หน้าผาก) พระอุระ (หน้าอก) พระโอษฐ์ (ปาก) รวม 4 แห่ง
เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระแก้วได้ประดิษฐสถานอยู่ที่เมืองละโว้สืบมาเป็นเวลานาน ครั้นเมื่อพระนางจามเทวี ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงละโว้ถูกเชิญมาครองเมืองหริภุญชัย พระนางจึงขออนุญาติจากพระราชบิดานิมนต์พระภิกษุสงฆ์ สามเณรและพระเสตังคมณี (พระแก้วขาว) มาเป็นพระพุทธรูปบูชาประจำพระองค์ พระแก้วขาวจึงได้ประดิษฐาน ณ นครลำพูนเมื่อ พ.ศ.1204  เป็นเวลาหลายร้อยปีเป็นเสมือนตัวแทนอันยาวนานของประวัติศาสตร์หริภุญชัยเลยทีเดียว  ต่อมา พ.ศ.1839 พญามังรายได้อัญเชิญพระแก้วขาว มาประดิษฐานในที่ประทับของพระองค์ในปี พ.ศ.1824  ทรงเคารพสักการะบูชาเป็นพระพุทธรูปประจำประองค์ตั้งแต่นั้นมา และกษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญชัยและนครเชียงใหม่ในยุคต่อมา ก็นับถือพระพุทธรูปบูชาประจำพระองค์นี้เช่นกัน
สำหรับฐานพระพุทธรูปนั้นสร้างเมื่อ พ.ศ.2471 นอกจากนี้ในตำนานเชียงใหม่ปางเดิมได้ระบุว่า ในพิธีสืบชะตาเมืองได้มีการอัญเชิญพระแก้วขาวแห่งวัดเชียงมั่นเข้าร่วมด้วย
องค์ซ้ายพระแก้วขาว องค์ขวาพระศีลา (แบบเบลอๆ)
พระศีลา เป็นพระพุทธรูปแกะสลักด้วยหินชนวนดำ ฝีมือช่างปาละของอินเดียและแกะสลักตามคติเดิมของอินเดีย พุทธลักษณะของพระศิลา คือ ประทับยืนเยื้องพระองค์บนฐานบัวภายใต้ซุ้ม พระหัตถ์ขวาทอดลงเหนือหัวช้างซึ่งหมอบอยู่ พระหัตถ์ซ้ายยกในท่าประทานอภัยหรือแสดงธรรม พระอานนท์ยืนถือบาตรอยู่ด้านซ้าย
ตำนาน (อีกแล้ว) กล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพานได้ 7 ปี 7 เดือน 7 วัน พระเจ้าอาชาตศัตตุราช ผู้ครองนครราชคฤท์ (อินเดีย) มีพระประสงค์ที่จะสร้างพระพุทธรูป ทรงให้นำเอาดินจากท้องมหาสมุทรมาสร้างพระพุทธรูปปางเสด็จบิณฑบาตร ในเวียงราชคฤห์ ปราบช้างนาฬาคิริงด้วยพระเมตตา โดยมีรูปช้างนาฬาคิริงนอนหมอบอยู่ทางขวา และรูปพระอานนท์ถือถือบาตรอยู่ทางด้านซ้าย ทรงให้สร้างรูปทั้งสามนั้นในหน้าหินรูปเดียวกัน เมื่อสร้างพระพุทธรูปเสร็จ พระเจ้าอาชาตศัตตุราชาและพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย พร้อมใจกันตั้งจิตอธิฐาน กล่าวคำอาราธนาพระบรมสารีริกธาตุ 7 องค์ให้เสด็จเข้าสถิตย์ในองค์พระพุทธรูปศีลา เมื่อพระบรมสารีริกธาตุทั้ง 7  พระองค์สถิตย์ตั้งอยู่ในองค์พระศีลาเจ้าแล้ว พระศีลาเจ้าก็ทรงสำแดงอิทธิฤทธิ์เสด็จขึ้นไปในอากาศ พระเจ้าอาชาตศัตตุราชทรงเห็นเป็นอัศจรรย์ จึงทรงประดิษฐานพระศีลาในเงื้อมเขาที่สูง และทำแท่นบูชาไว้ข้างล่างสำหรับผู้ที่ต้องการมาสักการะบูชา
ต่อมาพระเจ้า 3 องค์มีพระนามว่า สีละวังโส เรวะโตและญานคัมภีระเถระ พากันไปนมัสการพระศีลาเจ้าที่เงื้อมเขา และขออาราธนาพระองค์เสด็จโปรดมหาชนในประเทศบ้านเมืองที่ไกลบ้าง พระเถระเจ้าทั้ง 3 องค์จึงขออนุญาตพระเจ้าอาชาตศัตตุราชนำพระศีลาไปยังเมืองหริภุญชัย เมื่อพระเถระเจ้ามาถึงเมืองนคร (ลำปาง) ก็อัญเชิญพระศีลาเจ้าประดิษฐานไว้ในเมืองนั้น เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนชาวเมืองเป็นเวลาหลายสมัย
เชื่อว่าพระเถระชาวสิงหล 4 รูป ได้นำพระศิลาพร้อมด้วยพระบรมสารีธาตุริกธาตุของพระพุทธเจ้ามามอบให้พญามังรายที่เวียงกุมกามเมื่อ พ.ศ.1833  สำหรับพระบรมธาตุ ได้รับการบรรจุไว้ในพระเจดีย์ของวัดกานโถมองค์หนึ่ง และอีกองค์หนึ่งบรรจุไว้ในพระโมลีของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ทรงสร้างขึ้น
ในสมัยพระเจ้าติโลกราชผู้ครองเมืองเชียงใหม่ มีรับสั่งให้ไปอาราธนาพระศีลาเจ้ามาประดิษฐานไว้ ณ เมืองเชียงใหม่ โดยประดิษฐานไว้ที่วัดป่าแดง วัดหมื่นสารและวัดสวนดอกไม้ตามลำดับ ในปีมะแมจุลศักราช 837 (พ.ศ.2019) ทรงอาราธณาพระศีลาเจ้ามาประดิษฐานในหอพระแก้ว ในราชวังของพระองค์ ครั้นถึงเทศกาลอันสมควรก็กระทำพิธีสักการะบูชาสระสรงสมโภชพระแก้วและพระศีลาเจ้าเป็นงานประจำปี ถ้าปีในแห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ก็ทรงให้จัดการทำพิธีขอฝน สระสรงองค์พระศีลาเจ้า เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าติโลกราช พระราชบุตร พระราชนัดดาได้เสวยราชก็ทรงดำเนินตามราชประเพณีสืบๆ กันมา ภายหลังจึงได้รับการประดิษฐานไว้ที่วัดเชียงมั่นคู่กับพระเสตังคมณี
เมื่อกราบพระแก้วขาวและพระศีลาเรียบร้อยแล้ว เราก็ไปดูพระเจดีย์กันดีกว่าค่ะ มองจากวิหารจตุรมุขจะเห็นวิหารหลังแรกและเจดีย์ช้างล้อมอยู่ทางซ้ายมือนะคะ
"เจดีย์ช้างล้อม" เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมผสมทรงกลมฐานช้างล้อม ประกอบด้วยเรือนธาตุและซุ้มจรนำ ตรงฐานเจดีย์ทำเป็นรูปช้างล้อม 16 เชือก คล้ายกับแนบฐานอยู่ ซุ้มจรนำของเจดีย์มีด้านละสามซุ้ม เหนือเรือนธาตุขึ้นไปเป็นชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยมรองรับองค์ระฆังกลม สร้างขึ้นในสมัยพญามังราย พ.ศ.1839 เมื่อพญามังราย พญางำเมืองและพญาร่วง สร้างวัดและเมืองเชียงใหม่เสร็จบริบูรณ์  จึงได้ก่อพระเจดีย์ขึ้นทับหอนอน (ราชมณเฑียร) และบรรจุพระบรมสารีรึกธาตุ พระเกศาธาตุทรงสูง (ทรงปราสาท)  สันนิษฐานว่าสร้างเลียนแบบเจดีย์ช้างล้อมของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่เมืองศรีสัชนาลัย และคงจะหมายถึงช้างที่ค้ำชูพระพุทธศาสนา เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์แบบแรกๆ ของล้านนาเลยล่ะค่ะ
คาดว่าเจดีย์นี้ได้พังลงมาในสมัยของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ราชวงค์มังรายลำดับที่ 10 (ครองราชย์ พ.ศ.1985-2031) พระองค์จึงโปรดให้สร้างขึ้นใหม่ด้วยศิลาแลงในปี พ.ศ.2014

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น